โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ที่จริงแล้วเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลให้สมองขาดเลือด จึงเกิดอาการแขนขาใช้งานไม่ได้ หรืออ่อนแรง ซึ่งทั้งอัมพาต อัมพฤกษ์ มีสาเหตุเกิดจากสมองขาดเลือดทันทีภายในระยะเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมง ไม่ใช่ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ หลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยกว่า และหลอดเลือดสมองแตก จากโรค

- ไขมันในเลือดสูง
- โรคเบาหวาน
- การสูบบุหรี่ หรือมีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดแดงสมอง
- หรือลิ่มเลือดจากโรคหัวใจเต้นรัว เอเอฟ (AF,atrial fibrillation)
- หลุดลอยเข้ากระแสโลหิตและอุดตันหลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดสมองแตก ที่พบได้บ่อยคือ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- และในโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง(Aneurysm)
ประเภทของอัมพาตแบ่งได้ง่ายๆ 3 ประเภท ดังนี้
1. ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก หมายถึง ผู้ป่วยที่มีภาวะการอ่อนแรงจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง หรือเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จากการแตก ตีบ ตัน ของหลอดเลือดในสมองหรืออุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนทางสมอง
2. ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน หมายถึง ผู้ป่วยที่มีภาวะ การอ่อนแรงของขาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซึ่งมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บของไขสันหลังตั้งแต่ ระดับอกลงมาจากการตกจากที่สูง,อุบัติเหตุบนท้องถนน,หรือการถูกยิง,แทง หรือมีเนื้องอกที่ไขสันหลัง เป็นต้น
3. ผู้ป่วยอัมพาตทั้งตัว หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงของแขนขาทั้ง 2 ข้าง สาเหตุเช่นเดียวกับอัมพาตครึ่งท่อน แต่จะระดับสูงกว่าคือ มีการบาดเจ็บที่ระดับคอลงมา

รักษาโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ อย่างไร
คือ การรักษาสาเหตุ เช่น
-ผ่าตัดสมองเมื่อเกิดหลอดเลือดสมองแตก
-ใส่สารอุดตันเข้าหลอดเลือดเมื่อเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
-ใส่ยาละลายลิ่มเลือด เมื่อเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน
นอกจากนั้นอาจให้การรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
-ให้ยาลดการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
-ให้การรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น รักษาควบคุมโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
-การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อ แขน ขา และการฝึกพูด

การทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกเบื้องต้นในระยะอ่อนแรง
ข้อควรปฏิบัติ
- การเคลื่อนไหวข้อให้ผู้ป่วยควรทำช้าๆ
- ควรทำการเคลื่อนไหวให้สุดองศาของการเคลื่อนไหวที่ปกติ แต่ควรระวังในรายที่มีการดามเหล็กอยู่ภายในข้อ ภายในกระดูก ต้องไม่ทำเกินกว่าที่ผู้ป่วยทำได้
- ในแต่ละท่าทำซ้ำๆท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2 รอบ
- ระหว่างทำให้ผู้ป่วยคิดอยู่เสมอว่ากำลังทำการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง
- ไม่ควรทำการเคลื่อนไหวหลังจากรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือในขณะผู้ป่วยมีไข้
- ขณะทำการเคลื่อนไหวข้อ ถ้าผู้ป่วยปวด หรือ พบปัญหาอย่างอื่นตามมา ควรหยุดและปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยนอนอย่างเดียวนาน ๆ ควรให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมานั่งบ่อย ๆ
- ควรได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง
- พยายามสอนญาติผู้ป่วยให้ทำอยู่เป็นประจำ
การทำกายภาพบำบัดหลังระยะอ่อนแรง (เริ่มฟื้นตัว)
- หลังจากผู้ป่วยได้รับการทำกายภาพบำบัดในระยะอ่อนแรงเบื้องต้นแล้ว หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การฝึกก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเบื้องต้นให้เคลื่อนไหวข้อเหมือนในระยะอ่อนแรง แต่ต่างกันตรงที่ต้องเพิ่มแรงต้าน เช่น การกางสะโพกไปด้านข้างให้ต้านแรงให้ผู้ป่วยด้วย และนอกจากนี้ก็มีการฝึกที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การฝึกทรงตัวในท่านั่ง,การฝึกทรงตัวในท่ายืน เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่ปกติมากที่สุด ซึ่งต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดต่อไป
การฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน
ปัญหาที่พบ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อครึ่งท่อน ผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับแขน ขา หรือช่วยเหลือตนเองได้ จึงเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนในระยะหลังตามมา คือ
1. ภาวะความดันต่ำ โดยผู้ป่วยนอนนานๆ จะทำให้ความดันต่ำลง โดยจะสังเกตได้จากขณะเปลียนท่าจากท่านั่งมานอนจะรู้สึกเวียนศรีษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
2. ขาบวม เกิดจากการไม่ได้เคลื่อนไหว นอนนานๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดีทำให้ขาบวม
3. หลอดเลือดดำอุดตัน เกิดจากการที่ไม่ได้เคลื่อนไหวขาเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดเป็นลิ่มเลือดบริเวณขา
4. แผลกดทับ เกิดแผลบริเวณปุ่มกระดูกจากการนอนนาน ๆ
5. ข้อติด การเกิดการยึดติดของข้อและการหดรั้งของกล้ามเนื้อนานเข้าจะทำให้เกิดการผิดรูปของข้อ บางกรณีอาจพบอาการปวดร่วมด้วย

หลักการรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนทางกายภาพบำบัดเบื้องต้น
- จะทำการรักษาทางกายภาพบำบัดหลังจากได้รับการรักษาทางการแพทย์จนอยู่ในภาวะคงที่แล้ว
- ทำการเคลื่อนไหวข้อต่อเหมือนในกรณีของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแต่ควรระวังในรายที่มีการดามเหล็กอยู่ภายในข้อ ภายในกระดูก ไม่ต้องทำเกินกว่าที่ผู้ป่วยทำได้
- ออกกำลังกายโดยให้แรงต้านในกล้ามเนื้อที่ยังสามารถทำได้อยู่ เพื่อให้ใช้กล้ามเนื้อที่เหลืออยู่ทดแทนกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถทำงานได้
- ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยนอนนาน ๆ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งบ้างในรายที่พอนั่งได้ หรือให้ผู้ป่วยยืนในรายที่สามารถเดินได้
ดูแลตัวเองอย่างไร
1.การพบแพทย์ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเสมอ เพราะเมื่อได้รับการรักษาได้ทัน อาจรอดชีวิต และอาจรอดจากความพิการได้
2.ส่วนเมื่อได้รับการรักษาแล้ว และแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตัวเองที่บ้าน ต้องดูแลตัวเอง แหละหมั่นไปพบแพทย์
3.ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
4.พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ทำได้เสมอ ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ อย่าหมดกำลังใจ เพราะอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น ช้าๆ
5.กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้องไม่ขาดยา เพื่อป้องกันโรคเกิดเป็นซ้ำ
6.รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อและเพื่อการมีสุขภาพดี
7.เข้าใจธรรมชาติของโรค ยอมรับความจริง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพ เพื่อลดปัญหาต่อตัวเอง และต่อครอบครัว หาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆเพื่อช่วยเหลือตัวเอง
8.จัดบ้าน ห้องพัก และห้องน้ำเพื่อช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อลดภาระของครอบครัว
9.ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
10.พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการต่างๆเลวลงหรือผิดไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ
11.รีบพบแพทย์ เมื่อมีไข้สูง เพราะเป็นอาการจากการติดเชื้อ ซึ่งควรต้องรีบรักษา เพราะดังกล่าวแล้วว่า มักเป็นการติดเชื้อรุนแรง
12.ป้องกันความพิการและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการนอนนานๆ ได้แก่ โรคปอดบวม โรคกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ โรคแผลกดทับ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ข้อมูลจาก กายภาพบำบัด.com
|