หลายคนคงเคยได้ยินคำว่ากัญชงกับกัญชามาบ้าง ซึ่งบางคนก็อาจหลงคิดไปว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แม้จะมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน จนทำให้สับสนได้ ดังนั้นเราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของพืชทั้งสองชนิดนี้ เพื่อจะได้เข้าใจและแยกชนิดของกัญชงหรือกัญชาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
กัญชงกับกัญชาเหมือนกันไหม
กัญชงกับกัญชา จัดอยู่ในกลุ่มของพืชตระกูลเดียวกัน แต่เป็นละคนสายพันธุ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีลักษณะที่คล้ายกันอย่างมาก ถึงกับทำให้บางคนแยกไม่ออกว่าอันไหน คือกัญชง หรือกัญชากันแน่ ซึ่งจะมีความแตกต่างในส่วนของลักษณะทางกายภาพบางอย่าง และสารสำคัญที่อยู่ในพืชทั้งสองชนิดนี้
วัตถุประสงค์ในการนำมาใช้งานจึงต่างกันไปด้วย โดยส่วนใหญ่กัญชงจะนำไปแปรรูปใช้ในงานสิ่งทอ หรือกระดาษมากกว่า และส่วนกัญชาจะถูกนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคในทางการแพทย์
ลักษณะทางกายภาพของกัญชงกับกัญชา
กัญชงกับกัญชา มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน คือ
- สีของใบ: กัญชงจะมีสีเขียวอ่อน ๆ ส่วนกัญชามีสีเขียวเข้ม เมื่อนำมาเทียบกันจะเห็นความต่างของสีอย่างชัดเจน
- ลักษณะของใบ: กัญชงใบจะมีความเรียวกว่าและเรียงตัวห่างกัน เมื่อนับแฉกจะมี 7-11 แฉก ส่วนกัญชาใบจะหนากว้างเรียงชิดติดกันมากขึ้น และมีเพียง 5-7 แฉกเท่านั้น
- ลำต้น: กัญชงมีความสูงมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ในขณะที่กัญชาเป็นพุ่มเตี้ย ๆ สูงไม่เกิน 2 เมตร
- กิ่งก้าน: กัญชงไม่ค่อยแตกกิ่งก้านเหมือนกัญชาสักเท่าไหร่ จึงมีกิ่งก้านน้อยกว่ามาก
- เมล็ด: ถ้าเป็นกัญชงจะมีขนาดเมล็ดใหญ่กว่า ส่วนกัญชาเมล็ดจะเล็ก แต่มีผิวที่ดูมันวาวกว่า
ความแตกต่างทางกายภาพเหล่านี้อาจเป็นจุดเล็ก ๆ ที่หลายคนไม่ค่อยสังเกตสักเท่าไหร่ ทำให้แยกความต่างของพืชทั้งสองชนิดนี้ไม่ถูก แต่ถ้าคุณลองนำมาเปรียบเทียบไปทีละข้อ ก็จะพบว่าทั้งกัญชงและกัญชานั้น แท้จริงแล้วมีลักษณะที่ต่างกันอยู่
คุณสมบัติและสารสำคัญของกัญชงกับกัญชา
นอกจากลักษณะทางกายภาพแล้ว อีกสิ่งที่แตกต่างกันก็คือสารสำคัญของกัญชงกับกัญชา แม้จะมีสารสำคัญที่เหมือนกัน แต่มีปริมาณที่ต่างกัน ได้แก่
- สาร THC (Tetrahydrocannabinol) สารชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม ทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ในอาการเคร่งเครียด เศร้าเสียใจ หรือวิตกกังวล รู้สึกดีมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รวมถึงช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ด้วย แต่ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไปก็ไม่เป็นผลดี เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทนั่นเอง ซึ่งสาร THC พบในกัญชงไม่เกิน 1% และพบในกัญชามากกว่า 1%
- สาร CBD (Cannabidiol) เป็นสารที่มีส่วนช่วยในการระงับอาการปวด และลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้อาการปวดค่อย ๆ ทุเลาลง และลดอาการชักเกร็งได้อีกด้วย โดยสาร CBD ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พบในกัญชง เยอะกว่าในกัญชา
คุณสมบัติของกัญชง
กัญชง (Cannabis sativa L.subsp. sativa) จะมีสาร THC ในปริมาณน้อย และมีสาร CBD ในปริมาณมาก จึงไม่นิยมนำมาสูบเหมือนกัญชา แต่ด้วยเส้นใยที่เยอะและมีคุณภาพ ทำให้กัญชงถูกนำไปใช้ในการแปรรูปมากกว่า เช่น นำไปทำเสื้อผ้า สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง ฉนวนกันความร้อน หรือแปรรูปเป็นกระดาษ นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำเป็นสกัด เพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหารและรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายอีกด้วย
คุณสมบัติของกัญชา
กัญชา (Cannabis sativa L.) มีสาร THC ในปริมาณสูง และมีสาร CBD ในปริมาณน้อย มีฤทธิ์เป็นสารเสพติด กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้มีอาการเมาและหลอนได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติในการรักษาโรค ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ แก้กระหายน้ำ ท้องผูก เป็นยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด ช่วยลดอาการเจ็บปวดจากโรคข้ออักเสบ และบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกัน
รวมถึงช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งร้าย และชะลอการลุกลามของมะเร็งได้ ปัจจุบันจึงมีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น เพื่อการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
ข้อกำหนดทางกฎหมายของกัญชงกับกัญชา
ในอดีตกัญชงกับกัญชา จัดอยู่ในสิ่งเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งมีโทษทางกฎหมาย แต่ปัจจุบันได้มีการปลดล็อก ให้เป็นพืชเสรีที่ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป อย่างไรก็ตามจะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายด้วย ซึ่งมีข้อกำหนดอย่างไรบ้างมาดูกันเลย
- อนุญาตให้ใช้กัญชงและกัญชาได้ ในทางการแพทย์หรือเพื่อสุขภาพเท่านั้น ไม่ให้ใช้ในแง่ของยาเสพติด
- สามารถนำกัญชามาใส่ในอาหารได้ แต่ต้องใส่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
- ทุกส่วนของกัญชา นำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้น เมล็ดกัญชงกัญชา และช่อดอก ที่ยังคงเป็นยาเสพติดอยู่
- การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา จะต้องได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
- การใช้กัญชงในเครื่องสำอาง ต้องมีปริมาณ THC ไม่เกินจากที่กำหนด
สรุปบทความ
กัญชงกับกัญชา มีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะทางกายภาพ และปริมาณของสารสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ปลดล็อกให้เป็นพืชที่ถูกกฎหมาย และนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งกัญชงและกัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคทางการแพทย์ได้ดี และยังใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเสริมลดความดันอีกด้วย มีคุณสมบัติช่วยควบคุมระดับความดันให้เป็นปกติ ทั้งนี้ก็ควรใช้ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมาย เพราะหากใช้ผิดวิธีหรือใช้มากไป ก็ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้นั่นเอง